วันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560

๙ คำที่พ่อสอน

๙ คำที่พ่อสอน

๑."ความเพียร"


••••••••••••••••

๑."ความเพียร"

“ความเพียรที่ถูกต้องเป็นธรรม และพึงประสงค์นั้นคือความเพียรที่จะกำจัดความเสื่อมให้หมดไป และระวังป้องกันมิให้เกิดขึ้นใหม่ อย่างหนึ่ง กับความเพียรที่จะสร้างสรรค์ความดีงาม ให้บังเกิดขึ้นและระวังรักษามิให้เสื่อมสิ้นไป อย่างหนึ่ง ความเพียรทั้งสองประการนี้ เป็นอุปการะอย่างสำคัญ ต่อการปฏิบัติตน ปฏิบัติงาน ถ้าทุกคนในชาติจะได้ตั้งตนตั้งใจอยู่ในความเพียรดังกล่าว ประโยชน์และความสุขก็จะบังเกิดขึ้นพร้อม ทั้งแก่ส่วนตัวและส่วนรวม”
(พระราชดำรัสพระราชทานในพิธีกาญจนาภิเษก ทรงครองราชย์ ครบ 50 ปี พ.ศ.2539)
▪▪▪▪▪▪▪▪▪

๒."ความซื่อสัตย์"

    "...ผู้ที่มีความสุจริตและบริสุทธิ์ใจ แม้ จะมีความรู้น้อยก็ย่อมทำประโยชน์ให้ แก่ส่วนรวมได้มากกว่าผู้มีความ รู้มากแต่ไม่มีความสุจริตไม่มีความบริสุทธิ์ใจ..."
พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะคณาจารย์โรงเรียนต่างๆ
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน 18 มีนาคม 2523
▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪

 ๓."พูดจริง ทำจริง"

 ผู้หนักแน่นในสัจจะพูดอย่างไร ทำอย่างนั้น จึงได้รับความสำเร็จ พร้อมทั้งความศรัทธาเชื่อถือและความยกย่องสรรเสริญ จากคนทุกฝ่าย การพูดแล้วทำ คือ พูดจริง ทำจริง จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมเกียรติคุณของบุคคลให้เด่นชัด และสร้างเสริมความดี ความเจริญ ให้เกิดขึ้นทั้งแก่บุคคลและส่วนรวม 

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 10 กรกฎาคม 2540

▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪

๔."ความรู้ตน"


     เด็กๆ ทำอะไรต้องหัดให้รู้ตัว การรู้ตัวอยู่เสมอจะทำให้เป็นคนมีระเบียบและคนที่มีระเบียบดีแล้ว จะสามารถเล่าเรียนและทำการงานต่างๆ ได้โดยถูกต้องรวดเร็ว จะเป็นคนที่จะสร้างความสำเร็จและความเจริญ ให้แก่ตนเองและส่วนรวมในอนาคตได้อย่างแน่นอน 


พระบรมราโชวาท พระราชทานลงพิมพ์ในหนังสือ วันเด็ก ประจำปี 2521
▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪

 ๕."อ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ"

 ในวงสังคมนั้นเล่า ท่านจะต้องรักษามารยาทอันดีงามสำหรับสุภาพชน รู้จักสัมมาคารวะ ไม่แข็งกระด้าง มีความอ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ พร้อมจะเสียสละประโยชน์ส่วนตัวเพื่อส่วนรวม 
พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 25 มิถุนายน 2496
▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪

๖."เป็นผู้รับและเป็นผู้ให้"

คนเราจะเอาแต่ได้ไม่ได้ คนเราจะต้องรับและจะต้องให้ หมายความว่าต่อไป และเดี๋ยวนี้ด้วยเมื่อรับสิ่งของใดมา ก็จะต้องพยายามให้ ในการให้นั้น ให้ได้โดยพยายามที่จะสร้างความสามัคคีให้หมู่คณะและในชาติ ทำให้หมู่คณะและชาติประชาชนทั้งหลายมีความไว้ใจซึ่งกันและกันได้ ช่วยที่ไหนได้ก็ช่วย ด้วยจิตใจที่เผื่อแผ่โดยแท้ 
พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ 20 เมษายน 2521
▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪

๗."ความพอดี"

ในการสร้างตัวสร้างฐานะนั้น
จะต้องถือหลักค่อยเป็นค่อยไป 
ด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง
และความพอเหมาะพอดี 
ไม่ทำเกินฐานะและกำลัง 
หรือทำด้วยความเร่งรีบ 
เมื่อมีพื้นฐานแน่นหนารองรับพร้อมแล้ว 
จึงค่อยสร้างค่อยเสริม
ความเจริญก้าวหน้าในระดับสูงขึ้น 
ตามต่อกันไปเป็นลำดับผลที่เกิดขึ้นจึงจะแน่นอน 
มีหลักเกณฑ์ เป็นประโยชน์แท้และยั่งยืน

พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร
ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น
วันที่ 18 ธันวาคม 2540

▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪

๘.หนังสือเป็นออมสิน"

หนังสือเป็นการสะสมความรู้และทุกสิ่งทุกอย่าง
ที่มนุษย์ได้สร้างมา ทำมา คิดมา แต่โบราณกาลจนทุกวันนี้ 
หนังสือจึงเป็นสิ่งสำคัญ เป็นคล้ายๆ ธนาคารความรู้
และเป็นออมสิน เป็นสิ่งที่จะทำให้ มนุษย์ก้าวหน้าได้โดยแท้

พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะสมาชิกห้องสมุดทั่วประเทศ 
ในโอกาสที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท วันที่ 25 พฤศจิกายน 2514
▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪

 ๙."การชนะใจตน"

ในการดำเนินชีวิตของเรา เราต้องข่มใจไม่กระทำสิ่งใดๆ ที่เรารู้สึกด้วยใจจริงว่าชั่วว่าเสื่อม เราต้องฝืนต้องต้านความคิดและความประพฤติทุกอย่างที่รู้สึกว่าขัดกับธรรมะ เราต้องกล้าและบากบั่นที่จะกระทำสิ่งที่เราทราบว่าเป็นความดี เป็นความถูกต้อง และเป็นธรรม ถ้าเราร่วมกันทำเช่นนี้ ให้ได้จริงๆ ให้ผลของความดีบังเกิดมากขึ้นๆ ก็จะช่วยค้ำจุนส่วนรวมไว้มิให้เสื่อมลงไป และจะช่วยให้ฟื้นคืนดีขึ้นได้เป็นลำดับ 

พระราชดำรัส พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่าน ในพิธีเปิดการประชุมยุวพุทธิกสมาคมทั่วประเทศ ครั้งที่ 12 ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันที่ 12 ธันวาคม 2513


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น