"ดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ขึ้นกล่าวถวายสดุดีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในครั้งนี้ ในนามของสหรัฐขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งไปยังสมเด็จพระราชินีและพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์รวมถึงประชาชนไทยต่อการเสด็จสวรรคตของพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไม่เพียงแต่เป็นมิตรที่ยาวนานของสหรัฐ แต่พระองค์ยังทรงผูกพันอย่างมากกับสหรัฐด้วย พระบรมราชชนกและพระบรมราชชนนีของพระองค์พบกันขณะทรงศึกษาอยู่ในเคมบริดจ์ สหรัฐ แม้พระองค์จะพำนักอยู่เมื่อยังทรงเป็นเพียงทารก แต่ผู้ที่อยู่ในเคมบริดจ์ยังรู้สึกได้ถึงการดำรงอยู่ของพระองค์ที่นั่น ในฐานะที่เคยเป็นอาจารย์ในเคมบริดจ์ก่อนจะมาทำงานในรัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ที่ต้องเดินผ่านจตุรัสคิงภูมิพลซึ่งถูกตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแด่พระองค์ เป็นเรื่องปกติที่จะเจอคนไทยเดินทางมาถวายความเคารพและถ่ายภาพในสถานที่เหล่านั้น และในสถานที่อื่นๆ อีก ขณะที่ตอนนี้จะเจอคนมาวางดอกไม้เพื่อระลึกถึงพระองค์
เกือบสองทศวรรษที่แล้ว นักข่าวคนหนึ่งเคยถามพระองค์ว่าอยากจะให้ผู้คนจดจำพระองค์อย่างไร พระองค์ทรงตอบว่าพระองค์ไม่สนใจว่าคนจะจดจำพระองค์อย่างไร แต่หากอยากจะเขียนถึงพระองค์ในแง่ดี ก็ให้เขียนว่าอะไรที่ทรงทำแล้วเป็นประโยชน์ ซึ่งสิ่งที่เป็นประโยชน์สำหรับพระองค์ก็คือการทำประโยชน์ให้กับผู้คนโดยเฉพาะคนยากจน หนทางเดียวที่จะรู้ว่าอะไรเป็นประโยชน์สำหรับผู้คนและทำให้เข้าใจปัญหาก็คือการเดินทางไปยังพื้นที่ที่ห่างไกลและยากจนเพื่อพบเจอและพูดคุยกับประชาชนที่ยากไร้และเจ้าหน้าที่หรือข้าราชการตัวเล็กๆ ทรงกระตือรือร้นที่จะแก้ไขปัญหาที่พบเจอและสนับสนุนให้คนไทยทำแบบเดียวกัน
ตลอดชีวิตของพระองค์ ทรงจดสิทธิบัตรต่างๆ มากถึง 40 ฉบับ ส่วนใหญ่มาจากการพัฒนาคิดค้นเพื่อจัดการแก้ไขปัญหาให้กับคนจน อาทิ โครงการแก้มลิง จากที่ทรงเห็นลิงเก็บของกินไว้ที่แก้มเพื่อนำมากินภายหลัง ทรงนำแนวคิดดังกล่าวไปใช้ในการพัฒนาโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมให้กับประชาชนโดยสร้างที่เก็บน้ำในช่วงน้ำท่วมเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรในภายหลัง
เมื่อทศวรรษที่ 1960 พระองค์เสด็จเยือนสหรัฐตามคำเชิญของประธานาธิบดีดไวท์ ไอเซนฮาวร์ และขึ้นพูดกับสภาคองเกรสโดยพระองค์ได้ทรงแบ่งปันสิ่งที่เห็นว่าเป็นคุณค่าสูงสุดสำหรับสังคมไทยคือ การให้ความสำคัญกับครอบครัวและการให้ความช่วยเหลือโดยไม่หวังผลตอบแทน ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนการใช้ชีวิตของพระองค์มาโดยตลอด นั่นคือการใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์กับผู้ที่ต้องการ การใช้ชีวิตในฐานะผู้ให้ และเพื่อรับใช้ผู้อื่น ไม่ใช่เพื่อให้ได้รับการยกย่อง นับเป็นโชคของคนไทยที่มีพระองค์เป็นคนในครอบครัว และนับเป็นโชคดีของเราที่ได้เห็นพระมหากษัตริย์ผู้โดดเด่นพระองค์นี้เลือกที่จะดำรงชีวิตเช่นนั้นตลอดพระชนม์ชีพ"
ซาแมนธา พาวเวอร์
เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำสหประชาชาติ
Source : REUTERS
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น